Review ArtVise Education
เอกสาร และขั้นตอนการสมัครเรียน รวมถึงเมื่อเดินทางถึงประเทศอิตาลี ค่อนข้างจะยุ่งยากมากค่ะ ซึ่งอิงโชคดีที่ได้เจอกับทีมงาน ArtVise ให้คำแนะนำดี ละเอียด ครบถ้วน เป็นกันเองเป็นเหมือนพี่-น้อง มากๆ ค่ะ
สุจิวรรณ เขมากรณ์
– อิง –
สารบัญเนื้อหา
กดข้ามเนื้อหาไปยังหัวข้อที่สนใจได้ตรงนี้นะคะ
Photography and Visual Design
สาขาการถ่ายภาพจากสถาบัน NABA หลักสูตรนี้จะเน้นไปทาง Art Photography มากกว่างานทาง commercial ในหลักสูตรนั้นมีสอน commercial บ้าง เช่น Architectural Photography รวมทั้ง การสอนเทคนิคการถ่ายภาพ เพื่อปรับพื้นฐานให้กับนักเรียนทุกคน และสอน Curator ช่วยให้เราเข้าใจการทำงานมากขึ้น
MAIN SUBJECTS
- CURATORIAL STUDIES AND EXHIBITION DESIGN (EXHIBITION)
- PHOTOGRAPHY (MAGAZINE)
- VISUAL COMMUNICATION
- HISTORY OF PHOTOGRAPHY
- PHOTO DOCUMENTATION (PHOTOGRAPHY SYSTEM – AGENCIES, COLLECTING, MARKETS)
- PHENOMENOLOGY OF IMAGE
- COMPUTER GRAPHICS
- DIGITAL PHOTOGRAPHY
- PORTFOLIO
ทำความรู้จักกับศิษย์เก่า ซักนิดนึงค่ะ
วันนี้เราได้มีโอกาสคุยกับน้องอิง (สุจิวรรณ เขมากรณ์) ที่กำลังศึกษา ปริญญาโท ที่สถาบัน NABA สาขา Photography & Visual Design เรามาเจาะลึกกันค่ะว่า หลักสูตรนี้เรียนแบบไหน มีจุดเด่นยังไง
อิงเรียนจบหลักสูตร ปริญญาตรี คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตอนนั้นเรารู้สึกว่าสนใจการถ่ายภาพ จึงเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพทั้งหมด และทำงานด้านการถ่ายภาพมาตลอดหลายปี
Credit: khemakorn.org
– NABA :: International Academy of Art and Design –
ทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนต่อ ป.โท ที่สถาบัน NABA ?
หลังจากที่อิงเรียนจบ ได้ทำงานถ่ายภาพมาหลายปี จนเรารู้สึกว่า ถึงเวลาที่เราอยากพัฒนาตนเอง จึงเริ่มลองเสิร์ชหาคอร์สเรียน ต่อปริญญาโท หลายๆประเทศ จนมาเจอกับ ArtVise Education ที่แนะนำสถาบันด้านการออกแบบต่างๆ และพี่ๆได้แนะนำสถาบัน NABA ที่มิลาน อิตาลี
จากมุมมองตอนแรกของเรา เราคิดว่าอิตาลีจะโดดเด่นทางด้านออกแบบ แต่เมื่อเราได้คุย และศึกษาในหลักสูตร เราเห็นว่าคอร์สถ่ายภาพที่นี่ ไม่เหมือนใคร และคิดว่าเป็นสถาบันที่น่าสนใจสำหรับเรา ประกอบกับเราเองมีความสนใจด้าน Fashion เราคิดว่าที่นี่เป็นเมืองที่ตอบโจทย์ของเราได้หลากหลาย จึงร่วมประกวดชิงทุนการศึกษา ชนะรางวัล และได้มาเรียนต่อที่ สถาบัน NABA ค่ะ
Credit: khemakorn.org
NABA
International Academy of Art & Design
การเรียนการสอนของคอร์ส Photography and Visual Design เป็นยังไงบ้างคะ ?
คอร์ส Photography ที่อิงเรียน เป็นหลักสูตร ป.โท เรียน 1 ปี จำนวนนักศึกษาปีนี้มี International 9 คน และนักศึกษาอิตาเลียน 24 คน เวลาเรียนเราจะแยกคลาสกัน English/Italian แต่ก็มีบ้างสำหรับอาจารย์บางท่าน อย่าง Portfolio และ Curatorial Studies and Exhibition จะรวมคลาสกันเพื่อให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักและศึกษางานของกันและกัน
สำหรับบางวิชาอย่าง Graphic design เราต้องไปเรียนนอกสถานที่ ที่ Studio เพื่อเรียนเรื่อง Printing Process ไปดูสถานที่ทำงานจริง ขั้นตอนจริงของการพิมพ์ภาพถ่ายของศิลปินที่ใช้แสดงใน Gallery หรือ งานนิทรรศการต่างๆ รวมถึงการใช้กระดาษ เครื่องปริ้นท์และวิธีการทำงานของอาจารย์
การเรียนการสอนในภาคปกติจะมี Lecture บางส่วน บวกกับกิจกรรม Workshop ในคลาส ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านจะให้เวลากับนักศึกษาในเรื่องการคิด การทำ experiment เพื่อให้เข้าใจตัวเอง รวมถึงเปิดโอกาสให้เราครีเอทโปรเจค ไม่ว่าจากการออกไปถ่ายรูป ทำวิดีโอ Book Design หรือนำ Archive Photo ที่มีอยู่แล้ว ทั้งจากของเรารวมถึงเพื่อนร่วมชั้นมาใช้ให้เหมาะสมกับเนื้องาน ความถนัดและความชอบ
ส่วนในเรื่องอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่อการเรียน ทางมหาลัยก็มีให้สำหรับนักศึกษา ทั้ง Studio สำหรับถ่ายภาพ / Studio สำหรับการถ่าย VDO ภาพเคลื่อนไหว ทั้งยังมีกล้องถ่ายภาพให้เรายืมไปใช้ได้ รวมถึง Computer Lab และ Printing Shop ด้วย
Credit: khemakorn.org
อิง ได้เรียนกับอาจารย์ หรือ ศิลปินคนไหน ที่ชื่นชอบเป็นพิเศษมั้ยคะ ?
เราได้เรียนกับอาจารย์ทั้งชาวอิตาเลียนและชาวต่างชาติหลายท่าน ทุกท่านต่างมีประสบการณ์ในสายงานของตัวเองมาหลายปี ส่วนที่เราประทับใจมากๆ จะมี 3 ท่าน
อาจารย์ท่านแรก ชื่อ Jeff Mermelstein เป็น Photojournalist จากนิวยอร์ก เค้ามีสไตล์ถ่ายภาพเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะ Street Photography Jeff เคยออกหนังสือมาหลายเล่ม เล่มที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น Sidewalk
(Credit photo: https://www.exibartstreet.com/news/jeff-mermelstein-hardened/)
เทคนิคการสอนแต่ละวันของ Jeff ก็จะแตกต่างกันไป บางวันสั่งการบ้านให้เราหาที่ใดที่นึงเพื่อยืนถ่ายรูปจากที่ตรงนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรืออีกโจทย์คือให้เราถ่ายรูป โดยไม่มอง view finder ให้กดถ่ายไปเลยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สวยหรือจะหลุด focus มั้ย แล้วก็นำรูปที่เราเลือกทั้งหมดมาคุย มาคอมเม้นกันอย่างตรงไปตรงมา
Credit: khemakorn.org
ในระหว่างที่เรียน เป็นสัปดาห์ที่ Jeff กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ “HARDENED” ทุกภาพในเล่มถ่ายด้วยกล้องมือถือ iphone ทั้งหมด Jeff จะย้ำเสมอว่าการถ่ายรูปไม่จำเป็นต้องใช้กล้องที่ดีที่สุด แต่มันอยู่ที่มุมมองและการทำงานโดยไม่มีคำว่าหยุด Jeff ยังบอกอีกว่าเค้าตื่นมาพร้อมกับความกระหายที่อยากจะออกไปถ่ายรูปในทุกวันต่อให้อายุเพิ่มมากขึ้นขนาดไหนก็ตาม
อาจารย์อีกท่านคือ Linda Fregni Nagler เป็นช่างภาพ ศิลปินหญิงชาวอิตาเลียน Linda แชร์ผลงานและอธิบายขั้นตอนอย่างละเอียดเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการส่วนตัวเกี่ยวกับการสะสมภาพ Portrait โบราณของเด็ก ซึ่งบางภาพมีอายุกว่า 100 ปี และเนื่องจากการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มสมัยก่อนใช้เวลา 1-2 นาทีกว่าจะถ่ายได้แต่ละภาพ เลยเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เด็กนั่งนิ่งๆได้เป็นเวลานาน คนเป็นแม่จึงต้องเข้ามามีบทบาทในภาพแต่จำเป็นที่จะต้องซ่อนตัวจากกล้องในวิธีที่แตกต่างกันออกไป บ้างก็ใช้ผ้าสีดำคลุมตัว หลบหลังเก้าอี้ ไม่ก็ยื่นเฉพาะมือเข้ามาประคองลูกไว้
Linda บอกกับพวกเราว่าใช้เวลาสะสมภาพเหล่านั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี จนวันนึง มี Curator มาติดต่อขอให้นำภาพที่เลือกมาจำนวน 997 รูปไปจัดเป็นนิทรรศการที่ Venice Biennale, 2013 ร่วมกับงานของช่างภาพคนอื่นๆ และงานของ Linda ยังได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า “The Hidden Mother”
(ตัวอย่างงานนิทรรศการ: https://www.domusweb.it/en/art/2013/06/17/the_hidden_mother.html)
อาจารย์ท่านสุดท้ายคือ Domingo Milella เป็นศิลปินและช่างภาพชาวอิตาเลียน เคยจัดแสดงผลงานในนิทรรศการ Brancolini Grimaldi (Rome and London), Tracy Williams, Ltd. (New York), Foam photography museum (Amsterdam), the Venice Biennale and Les Rencontres d’Arles
(BIO: https://steidl.de/Artists/Domingo-Milella-0820294041.html)
อิงได้มีโอกาส Workshop กับ Domingo ทั้งหมด 7 วัน และอิงมองว่า Domingo นี่แหล่ะคืออาจารย์ที่ทำให้อิงเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อตัวเองในเรื่องของการถ่ายรูป
วิธีการสอน ค่อนข้างแตกต่าง และเป็นนามธรรม ใน Workshop อาจารย์จะให้เรานำภาพหรือสิ่งของมาติดฝาผนังแล้วเปิดเพลงประกอบ หลังจากเพลงจบอาจารย์จะให้เรา Action หรืออธิบายเป็นคำสั้นๆ ให้กับภาพที่เห็นตรงหน้า กฎหลักๆ เลยคือทุกคนในห้องคือเด็กอายุ 7 ขวบ พฤติกรรม ท่าทาง เสียงหรือการสัมผัสที่เรามีต่อรูปแต่ละรูปจะปราศจากการคิดและการตีความแบบผู้ใหญ่เพราะมันเกิดจากมุมมองของเด็ก เราใช้เวลากับกิจกรรมนี้ประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อนักเรียน 1 คน
Credit: khemakorn.org
การเรียนใน workshop นี้ ทำให้เรา Switch มุมมองที่เคยมองตัวเองให้กลายมาเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองและให้เกียรติตัวเอง Workshop ของ Domingo ทำให้รู้สึกว่า เราทำได้ เราเป็นตัวของเราได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอา style ของคนที่เราชอบมาใส่ในงาน เพื่อให้ใครยอมรับ
ประสบการณ์ การฝึกงาน
การฝึกงาน มหาลัยมีการ support เยอะมากๆ คอร์สที่เรียนเป็นหลักสูตร 1 ปี (Sep 2019 – July 2020) ซึ่งรวมการฝึกงานในหลักสูตร
หลังจากเรียนจบ นักศึกษาก็จะต้องฝึกงานเป็นเวลา 2 เดือนตามข้อกำหนดมหาลัย ส่วน Process ของการฝึกงาน ทาง NABA จะแนะนำตั้งแต่ต้นปี ตั้งแต่การทำ Portfolio การใช้คำ การเขียนแนะนำตัวเอง และคอยปรับ CV ของเราให้ถูกต้องก่อนจะอนุมัติ ไปบน Platform บน website ของทาง NABA
ส่วน Course Leader และ Career Service จะช่วยหางานให้ตรงกับความต้องการเราให้มากที่สุด เช่น หากเราอยากไปฝึกงานนอกเมืองมิลานหรือที่อื่นๆ ในยุโรป เค้าก็จะเช็คว่าที่ที่เราอยากไป ทาง NABA มี Connection มั้ย คือเค้าจะช่วยเราเต็มที่
แต่เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้ (June 2019) เกิดสถานการณ์ Covid-19 เลยทำให้การฝึกงานยืดระยะเวลาออกไปจนถึง December 2020 หรือ March 2021 โดยทาง NABA ก็มีทางเลือกมาให้นักศึกษา 2 ทางเลือก คือการเรียนเพิ่มเกี่ยวกับ ENTREPRENEURSHIP, INNOVATION AND NEW VENTURES หรือนักศึกษาจะเลือกทำ Personal Project โดยมี Course Leader เป็นที่ปรึกษาก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเรียนจบตรงเวลาตามกำหนดการของหลักสูตร
เราจะมาอัพเดทข้อมูลกันอีกทีนะคะ ว่าน้องอิง เลือกรอฝึกงาน หรือเลือกการเรียนจบแบบไหนท่ามกลางสถานการณ์นี้ค่ะ 🙂
ความประทับใจในคอร์สเรียน
ตอนแรกที่จัดสินใจมาเรียนเราแค่อยากมาเปิดมุมมองในต่างประเทศ แต่พอได้มาเรียนจริงๆ กลายเป็นว่าการเรียนการสอนของเค้าเน้นเรื่องการให้เวลาทางความคิด การตีความโจทย์ให้ละเอียด ยกตัวอย่างอาจารย์ท่านนึงที่เป็นที่ปรึกษาวิชา Curatorial Studies and Exhibition Design แกเคยพูดไว้ว่า “ถ้าเปรียบการคิดงานเป็นการขุดหลุม เราไม่ต้องการให้คุณขุดหลุมออกมาให้กว้างที่สุด แต่เราต้องการให้คุณขุดมันลงไปให้ลึกที่สุด” สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองตัวเองเปลี่ยนไป มันเหมือนเรารู้สึกว่าเราคือศิลปินคนนึงที่กำลังทำงานออกมาและงานเหล่านั้นเราไม่ได้ทำเพื่อลูกค้าหรือทำเพื่อใคร เราทำเพื่อให้เราเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้นต่างหาก
Credit: khemakorn.org
ประสบการณ์การใช้ชีวิต และความประทับใจในเมืองมิลาน
อิงว่าแต่ละประเทศในยุโรปมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน อย่าง Milan เองเป็นศูนย์รวมทั้ง Fashion, Design, Sculpture อิงโชคดีมากที่ได้มาอยู่ที่นี่ เพราะโดยส่วนตัวชื่นชอบการถ่าย Fashion Street Snap อยู่แล้ว ละ Milan เป็น 1 ใน 4 เมือง Fashion ของโลก ในช่วง Milan Fashion Week เราได้เจอ Celebrity ที่มาดูแฟชั่นโชว์ ได้เจอคนที่สนใจอะไรเหมือนๆเรา รู้สึกประทับใจมาก ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมานานและเราทำมันด้วยความรู้สึกที่อยากจะไปรับรู้ ไปเห็น ทำด้วยความต้องการที่อยากจะทำจริงๆ
Credit: khemakorn.org
นอกจากในเรื่อง Fashion ประเทศอิตาลี ก็โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมที่สวย และมีคุณค่า จนทำให้อิงหันมาสนใจการถ่ายภาพด้าน Architecture เพราะที่ผ่านมาอิงได้เดินทางไปเมืองอื่นๆ อย่าง Verona, Florence, Cinque Terre รวมถึงประเทศ Holland ในแต่ละที่เหล่านั้นมีประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าให้เราบันทึกที่แตกต่างกันออกไป อย่างตอนอยู่ไทยการเดินทางไปทำงานที่เดิมทุกๆ วันอาจจะรู้สึกชินและไม่รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งรอบตัว แต่หลังจากเดินทางมาที่นี่ทำให้เรารู้จักสังเกตดีเทลเล็กๆ น้อยๆ และพบมุมมองในการถ่ายรูปใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ
Credit: khemakorn.org
สรุป การไปเรียน ป.โท เราได้อะไรกลับมาบ้างคะ ?
การที่เราเดินทางมาเรียนที่นี่ เรามาเพื่อตัวเอง ไม่ได้ทำงานเพื่ออาจารย์ เพื่อลูกค้า หรือเพื่อใคร ภาพที่ถ่าย หรืองานทำออกมามันจึงไม่มีข้อจำกัดว่าต้องสวย เป๊ะ ทุกวันนี้เราเริ่มเข้าใจและเปิดรับความไม่เพอร์เฟคที่เกิดขึ้นกับงาน ไม่ต้องคอยกังวลแล้วว่าจะต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ เราแค่ลองปล่อยให้รูปภาพมันได้ทำหน้าที่ ให้มันเป็นตัวบอกเล่าความรู้สึกของเรา และนั่นเลยเป็นจุดที่ทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่อิงหยิบรูปพวกนั้นกลับมาดู มันถึงไม่รู้สึกเบื่อหรือรู้สึกเคอะเขินกับสิ่งที่เราถ่ายอีกต่อไป เพราะมันคือจุดเริ่มต้นและผลของการที่เรารู้จักเคารพและยอมรับความเป็นตัวเองค่ะ
ขอบคุณ คุณอิง สำหรับ บทสัมภาษณ์
ติดตามผลงานอื่นๆ ได้ที่ https://www.khemakorn.org/
สนใจเรียนต่อ ปริญญาโท สาขา Photography & Visual Design
สถาบัน NABA, Milan Italy
ปรึกษาเราได้เลยนะคะ แนะนำโดยศิษย์เก่าจากทางสถาบัน ละเอียดทุกขั้นตอน บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย